แสดงปฐมเทศนาแก่พระปัญจวัคคีย์
ณ
ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน
วันอาสาฬหบูชา เป็นวันที่สมเด็จพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าได้แสดง พระปฐมเทศนา หรือการแสดงพระธรรมครั้งแรก หลังจากที่ตรัสรู้ได้ ๒ เดือน เป็นวันที่เริ่มประดิษฐานพระพุทธศาสนาเนื่องจากมีองค์ประกอบของ พระรัตนตรัยครบถ้วนคือ พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นก่อนพุทธศักราช ๔๕ ปี ในวันเพ็ญ (ขึ้น ๑๕ ค่ำ) เดือน ๘ ดวงจันทร์ เสวยมาฆฤกษ์
การแสดงพระปฐมเทศนา
ได้ทรงแสดงแก่ปัญจวัคคีย์ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี ปัจจุบันคือสารนาถ
เมืองพาราณสี พระธรรมที่แสดงคือ ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร
เมื่อเทศนาจบ พระโกณฑัญญะ
หนึ่งในปัญจวัคคีย์ ผู้ประกอบด้วย พระโกณฑัญญะ พระวัปปะ พระภัททิยะ พระมหานาม และพระอัสสชิ
ก็ได้ดวงตาเห็นธรรม มีความเห็นแจ้งชัดดังนี้ว่า
ยํ กิญฺจิ สมุทยธมฺมํ สพฺพนฺตํ
นิโรธธมฺมนฺติ
สิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งใดสิ่งนั้นย่อมดับไปเป็นธรรมดา |
เมื่อได้ดวงตาเห็นธรรมจึงขออุปสมบทเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา
พระพุทธเจ้าก็ประทานอุปสมบทให้ ด้วยวิธีที่เรียกว่า เอหิภิกขุอุปสัมปทา โดยกล่าวคำว่า
เธอจงเป็นภิกษุมาเถิด พระโกณฑัญญะจึงเป็นพระปฐมสาวก พระอริยสงฆ์องค์แรก
ดวงตาเห็นธรรม ขออุปสมบทเป็นภิกษุในพระพุทธศาสนา
คำว่าธัมมจักกัปปวัตตนสูตร แปลว่าสูตรของการหมุนวงล้อแห่งพระธรรมให้เป็นไป
มีความโดยย่อว่า
ที่สุด ๒ อย่างที่บรรพชิตไม่ควรประพฤติปฏิบัติคือ การประกอบตนให้อยู่ในความสุขด้วยกาม(กามสุขัลลิกานุโยค) ซึ่งเป็นธรรมอันเลวเป็นของชาวบ้าน เป็นของปุถุชน ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์, ที่สุดอีกทางหนึ่งคือ การประกอบการทรมานตนให้เกิดความลำบาก(อัตตกิลมถานุโยค) ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์
การดำเนินตามทางสายกลาง
ไม่เข้าไปใกล้ที่สุดทั้งสองอย่างนั้น เป็นเรื่องที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้
ด้วยปัญญาอันยิ่ง ทำดวงตาและญาณให้เกิด
เป็นไปเพื่อความสงบระงับ ความรู้ยิ่ง ความตรัสรู้ และนิพพาน ทางสายกลาง ได้แก่
อริยมรรค มีองค์แปด คือ ปัญญาอันเห็นชอบ ดำริชอบ เจรจาชอบ การงานชอบ
เลี้ยงชีพชอบ พยายามชอบ ระลึกชอบ และตั้งใจหรือตั้งมั่นชอบ,
อริยสัจสี่ คือความจริงอันประเสริฐที่พระองค์ค้นพบ มี ๔ ประการได้แก่
ความทุกข์
ได้แก่ ความเกิด ความแก่ ความตาย ความได้พบกับสิ่งที่ไม่เป็นที่รัก ความพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รัก
ปรารถนาสิ่งใดแล้วไม่ได้สิ่งนั้น ว่าโดยย่อ อุปทานในขันธ์
๕ เป็นทุกข์
สาเหตุแห่งทุกข์(สมุทัย)
ได้แก่ ตัณหาความทะยานอยาก อันทำให้เกิดอีกความกำหนัด เพลิดเพลินในอารมณ์
คือกามตัณหา ความทะยานอยากในกาม ภวตัณหา ความทะยานในภพ วิภวตัณหา ความทะยานอยากในความไม่มีภพ
ความดับทุกข์(นิโรธ)
โดยการดับตัณหาด้วยอริยมรรค คือ วิราคะ สละ ดับ ปล่อยไป ไม่พัวพัน
หนทางปฏิบัติเพื่อดับทุกข์(มรรค)
ได้แก่ อริยมรรคมีองค์ ๘ คือ ความเห็นชอบ๑ ความดำริชอบ๑ การเจรจาชอบ๑
การกระทำชอบ๑ การเลี้ยงชีพชอบ๑ ความพยายามชอบ๑ การระลึกชอบ๑
และการตั้งจิตมั่นชอบ๑
ดวงตา
ญาณ ปัญญา วิชชา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแก่พระองค์ว่า
นี้คือทุกข์(๑)
อันควรกำหนดรู้ (๒) และพระองค์ได้กำหนดรู้แล้ว(๓)
นี้คือสาเหตุแห่งทุกข์(๔)
อันควรละ(๕) และพระองค์ได้ละแล้ว(๖)
นี้คือความดับทุกข์(๗)
อันควรทำให้แจ้ง(๘)
และพระองค์ได้ทำให้แจ้งแล้ว(๙)
นี้คือหนทางดับทุกข์(๑๐)
อันควรเจริญ(๑๑) และพระองค์ได้เจริญแล้ว(๑๒)
สรุปได้ว่า
ปัญญาอันรู้เห็นแจ้งชัดตามความเป็นจริงในอริยสัจ ๔ มีรอบ ๓ จึงมีอาการ
๑๒ คือ
ขั้นแรก รู้ว่าอริยสัจแต่ละอย่างนั้นเป็นอย่างไร
ขั้นที่สอง รู้ว่าควรจะทำอย่างไรในอริยสัจแต่ละประการนั้น
และขั้นที่ ๓ พระองค์ได้ กระทำตามนั้นสำเร็จเสร็จแล้ว
(รายละเอียดอยู่ในบทอริยสัจ ๔)
พระองค์ทรงเน้นว่า
จากการที่พระองค์ทรงค้นพบ คือตรัสรู้อริยสัจ ๔ ประการนี้ การที่พระองค์ทรงกล้าปฏิญญา
ว่าเป็นผู้ตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ เพราะพระองค์ได้รู้เห็นแจ้งชัดตามความเป็นจริง
ในอริยสัจ ๔ มี รอบ ๓ มีอาการ ๑๒ อย่างหมดจดดีแล้ว
เมื่อพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
ทรงประกาศพระธรรมจักร ให้เป็นไปแล้ว ได้มีการบันลือต่อ ๆ กันไปให้ทราบทั่วกันว่า
พระธรรมอันยอดเยี่ยมที่พระองค์ทรงประกาศให้เป็นไปแล้ว ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เขตเมืองพาราณสี
อันใคร ๆ ในโลกจะปฏิวัติไม่ได้
วันอาสาฬหบูชามีเหตุการณ์สำคัญในทางพระพุทธศาสนาอยู่
๓ ประการคือ
๑.
เป็นวันแรกที่พระพุทธเจ้าทรงประกาศพระศาสนา โดยทางแสดงพระปฐมเทศนา คือ ธรรมจักกัปปวัตนสูตร
ประกาศสัจธรรมอันเป็นองค์แห่งพระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณที่พระองค์ตรัสรู้
ให้เป็นที่ประจักษ์แก่ สรรพสัตว์ทั้งหลาย
๒.
เป็นวันแรกที่บังเกิดพระอริยสงฆ์สาวกขึ้นในโลก คือ พระโกณฑัญญะ เมื่อได้ฟังพระปฐมเทศนาจบ
ได้ดวงตาเห็นธรรม ได้ทูลขออุปสมบท และพระพุทธเจ้าได้ประทานอุปสมบทให้ด้วยวิธีเอหิภิกษุอุปสัมปทา
ในวันนั้น
๓.
เป็นวันแรกที่บังเกิดพระรัตนตรัย คือ พระพุทธรัตนะ พระธรรมรัตน และพระสังฆรัตนะ
ขึ้นในโลกอย่างสมบูรณ์บริบูรณ์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น